[PT...tell a story] ศศิกาญจน์ พึ่งทอง

PT tell a story

ศศิกาญจน์ พึ่งทอง
ศิษย์เก่าคณะสหเวชศาตร์ มศว รุ่น10
ปัจจุบันเป็นนักกายภาพบำบัด Bangpakok9 International Rehabilitation Centre, Muscat ประเทศโอมาน
ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสได้แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองสู่น้องๆ พี่ๆหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง อย่างน้อยก็ถือเสียว่าเล่าสู่กันฟังนะคะ
ตัวเองคิดมาตลอดว่าการได้เป็นนักกายภาพบำบัดมันเป็นโชคชะตา แต่หลังจากนั้นมันมาจากความตั้งใจและการตัดสินใจของเราทั้งหมด หากจะสรุปสั้นๆว่าทำไมโชคชะตาถึงเลือกกายภาพบำบัด คำตอบคือเพราะความไม่รู้ กรอกใบสมัครเพราะสุ่มเอา ชื่อคณะเท่ดี มาสอบทั้งๆที่ถอดใจไปแล้วแต่เพราะแม่บอกว่าเค้กมศว ประสานมิตร อร่อยมากถูกดีซื้อกลับบ้านด้วย..…ใครจะรู้ว่าเพราะเค้กของแม่จะมีบุญคุณมาครึ่งชีวิตเพราะถึงแม้จะเริ่มแบบงงๆแต่หลังจากนั้น ตัวเองรู้สึกขอบคุณอาชีพนักกายภาพบำบัดตลอดมาเลยค่ะ
ส่วนที่ยากที่สุดคือ จะเล่าอย่างไรให้สั้นที่สุด?
หากอยากรู้พื้นฐานความคิดใครสักคน การรู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้างเป็นสิ่งสำคัญในการคาดเดา
ประวัติการทำงาน
-Handicap International : Thai-Burmese Border Program, จ.ตาก และจ.แม่ฮ่องสอน ปี 2006-2009 ตำแหน่ง Physical Therapist Advisor
-Chivasom International Health Resort จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปี 2010-2014ตำแหน่ง Physiotherapist Trainer
-BPK International Rehabilitation Centre ประเทศโอมาน ปี 2014-ปัจจุบัน ตำแหน่ง Physiotherapist
ถ้าจะให้นิยามทั้ง3งานคือ ทำลายกำแพง เรียนรู้ และเปิดโลก
2006-2009 Handicap International เป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรหรือ NGO สำนักงานใหญ่ประเทศฝรั่งเศส ในตอนนั้นรับผิดชอบดูแลผู้พิการในส่วนของศูนย์ผู้อพยพในศูนย์จ.ตาก ในปีแรกและ จ.แม่ฮ่องสอนในปีถัดไป คือเข้าป่าลึกกว่าเดิม ลักษณะงาน เป็นนักกายภาพบำบัด ผู้ประสานงาน ผู้ฝึกสอน ออแกไนเซอร์จัดงาน จัดซื้อ ....สามารถร้องเพลง"เป็นทุกอย่าง ให้เธอแล้ว"ได้เลย เพราะเจ้าหน้าที่โครงการจะดำเนินกิจกรรมองค์กรในพื้นที่รับผิดชอบภายใต้แผนงานที่กำหนด ภาษาที่ใช้ภาษาไทย อังกฤษ กะเหรี่ยง พม่า และภาษามือ......สรุปคือโหด มัน ฮาและสนุกมากค่ะ
แล้วชีวิตช่วงนั้นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆมีเรื่องทั้งสนุก เศร้า โซ่ สลิง วิงส์4Wในการตะลุยเข้าพื้นที่ทำงาน การปรับตัวอยู่กับคนท้องถิ่นที่แทบไม่ใช้ภาษาไทยเลย ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่าที่มีศูนย์ผู้อพยพตลอดแนวชายแดนจำนวน 9 ศูนย์ จำนวนผู้อพยพที่มากกว่าแสนคน สองปีสุดท้ายที่ทำงานได้มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่ที่ว่ากันว่าเข้าถึงยากที่สุดในตอนนั้น เป็นประสบการณ์ที่มีความหมาย ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของการเป็นพลเมืองมีสัญชาติ และการได้นำความรู้ที่เรียนมา เอามาช่วยเหลือผู้พิการและครอบครัวภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ทำเท่าที่จะทำได้ ทำจนสุดความสามารถ สำเร็จบ้างและบางครั้งที่ไม่
อาจดูเหมือนเราเป็นผู้ให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเป็นผู้รับในทุกๆวันการได้พบเจอผู้คน การได้รู้ว่าเขาผ่านอะไรมา บทเรียนมากมายที่ได้รับจากงานนี้ได้เปลี่ยนมุมมองแนวคิดที่มีต่อโลกใบนี้อย่างสิ้นเชิง การตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต สิ่งใดคือสิ่งจำเป็น และความสุขที่ได้ใช้วิชาชีพช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความอิ่มในใจที่ต้องขอบคุณกายภาพบำบัดที่เปิดประตูบานนี้ให้
ในแง่อาชีพการงาน งานนี้ได้ทำลายกำแพงเรื่องภาษา ตัวเองคงคล้ายเด็กไทยหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนแต่ไม่เคยได้ใช้ ทำให้ไม่กล้าพูด แต่ด้วยเนื้องาน ทำให้เราต้องใช้ในสถานการณ์ต่างๆทำให้มีมุมมองต่อภาษาเปลี่ยนไป มันคือเครื่องมือที่ใช้เพื่อการสื่อสาร การที่เราสามารถรับและสื่อสารได้ครบถ้วนและมีความเข้าใจที่ตรงกัน แม้ไม่เหมือนเจ้าของภาษาแต่นั่นถือว่าภาษาได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นอย่าอายที่จะพูด แต่อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง รับฟังให้มากเรียนรู้ให้มาก อย่ากลัวที่จะทำพลาดเพราะคนที่ไม่เคยพลาดคือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรเลย แล้วเราจะเติบโตและเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
2010-2014 Chivasom International Health Resort เป็น Health and wellness resort ชั้นแนวหน้า นิยามการทำงานในช่วงเวลานั้นคือ ชีวิตคือการเรียนรู้ ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายของการทำงาน สิ่งที่สำคัญที่เรียนรู้จากที่นี่คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้เปิดโลกทัศน์ของการรักษาแขนงอื่นๆ ได้พบผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆรวมถึงนักกายภาพบำบัดจากต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคใหม่ๆ ได้อบรมทักษะต่างๆที่นอกเหนือจากที่เคยเรียน อัพเดทความรู้ทั้งด้านการออกกำลังกายและการรักษาทางกายภาพบำบัด
ในแง่วิชาชีพสิ่งที่ได้จากงานนี้คือการเรียนรู้ทักษะทางวิชาชีพใหม่ๆ การมองปัญหาแบบองค์รวม และความกระหายที่จะเรียนรู้เสมอ ปัจจุบันส่วนตัวได้เรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรต่างๆเรื่อยมา แม้ว่าบางอย่างจะไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยในไทยได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายเช่น Dry Needling แต่ก็ถือว่ายิ่งเรียนรู้ยิ่งเพิ่มทางเลือกและวิธีในการรักษาผู้ป่วยเหมือนเพิ่มอาวุธให้ตัวเอง
2014-ปัจจุบัน BPK International Rehabilitation Centre, โอมาน
อดีตปูทางมาเพื่อปัจจุบัน ดังนั้นจงทำตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะเข้ามา หากเป็นบัณฑิตใหม่จงพร้อมที่จะเรียนรู้ หากเป็นคนที่ผ่านการทำงานมีประสบการณ์แล้ว คุณโอ๊ต ปราโมทย์ได้กล่าวไว้ว่า "ให้ทำตัวเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ประมาณว่าฉีกซองเติมน้ำร้อนพร้อมทานได้เลย ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นสามารถดัดแปลงเป็นอาหารจานอร่อยรูปแบบอื่นได้
การมาทำงานต่างประเทศครั้งนี้เป็นการรับสมัครของโรงพยาบาลบางประกอก9 อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีความต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ตัวเองรับทราบข้อมูลการรับสมัครที่ฉุกละหุกมาก มีผู้สมัครหลายท่านและเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วยังมีการดำเนินงานทางเอกสารหลายขั้นตอน ทั้งการสอบใบประกอบวิชาชีพของประเทศเขา การดำเนินการวีซ่าใช้เวลาพอสมควร ซึ่งก็มีนักกายภาพบำบัดไทยหลายท่านทำงานในประเทศตะวันออกกลางซึ่งแต่ละประเทศก็มีรูปแบบการดำเนินการต่างกันไป ดังนั้นจึงแนะนำให้หาข้อมูลอย่างละเอียดรวมถึงค่าครองชีพด้วย การทำงานอย่างถูกกฎหมายและอัตราจ้างที่เป็นธรรม จะเป็นประโยชน์และคุ้มครองตัวคุณเอง
ส่วนตัวคิดว่าตลาดนักกายภาพบำบัดไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางค่อนข้างสดใส เป็นที่ต้องการ เพราะคนอาหรับมาใช้บริการทางการแพทย์ที่ประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความประทับใจทั้งการให้บริการและทักษะแต่ข้อจำกัดก็มีมากทั้งคู่แข่งต่างชาติ การกีดกันตำแหน่งงาน และความพร้อมของนักกายภาพบำบัดของไทยเอง นักกายภาพบำบัดต่างชาติที่มาทำงานในประเทศโอมาน ส่วนใหญ่คือชาวอินเดียและฟิลิปินส์ ซึ่งคนที่นี่ก็ตีอัตราจ้างไว้ระดับหนึ่งซึ่งไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับการทำงานในประเทศไทย แต่นักกายภาพบำบัดชาวยุโรปก็จะเป็นอีกระดับหนึ่งซึ่งต่างกันมาก
คำถามคือนักกายภาพบำบัดไทยอยู่ตรงไหนของตลาดแรงงานนี้ นี่เป็นสิ่งที่ฝากให้น้องๆที่ต้องการมาทำงานต่างประเทศได้คิด เพราะคำตอบมันหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวน้องเอง สิ่งที่อยากแนะนำคือควรหาข้อมูลให้พร้อมทั้งค่าครองชีพ สวัสดิการ ประเภทใบอนุญาตการทำงาน ลักษณะงาน และสิ่งสำคัญคือความพร้อมของตัวเองว่าอยู่จุดไหนของตลาดแรงงานนี้ น้องอาจรู้สึกว่า "แล้วจะหาข้อมูลจากไหน"นอกจากอากู๋(เกิล)ที่ตอบได้ทุกคำถามแล้ว ยังมีนักกายภาพบำบัดไทยท่านอื่นที่อาศัยหรือทำงานต่างประเทศแทบจะทุกทวีป ลองถามรุ่นพี่ เพื่อนของเพื่อน หรืออาจารย์ ดูสิ น้องอาจทึ่งว่าโลกมันกลมเพราะสุดท้ายแล้วกายภาพบำบัดด้วยกัน แม้จะต่างรุ่นต่างมหาวิทยาลัย แต่ก็ไล่ลำดับคอนเนคชั่นถึงกันได้ จึงควรทราบข้อมูลเบื้องต้นไว้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบนะ
อ่านมาจนถึงตอนนี้จะสรุปว่าตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตหรือ คำตอบก็คงไม่ใช่ เพราะชีวิตคนเราขึ้น ลง ทุกข์ สุข เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเป็นธรรมดา อนาคตไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตามพอมองย้อนกลับไป ก็รู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมด ถ้าเป็นวัยทำงานก็เรียกว่าเกินครึ่งทางของวัยเกษียณ รู้สึกว่าใช้ชีวิตได้คุ้มค่าแล้ว ครึ่งหลังที่เหลือจะเป็นอย่างไรก็ไม่เสียใจทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณวิชาชีพกายภาพบำบัด เพราะวิชาชีพนี้เป็นกุญแจที่เปิดประตูแห่งโอกาสในทุกๆครั้งให้ตัวเอง เป็นวิชาชีพที่ทำให้เราเห็นความเป็นจริงของชีวิต เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ให้ตัวเองได้มีโอกาสทำความดีในทุกๆวัน
ขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน อาจารย์ใหญ่ ผู้ป่วยและญาติ เพื่อนเรียนและเพื่อนร่วมงานทุกท่าน
เราได้เรียนรู้จากพวกคุณมากมาย ขอบคุณจริงๆค่ะ

วันเริ่ม
วันสิ้นสุด